ศาลเจ้าพ่ออุปราช เจ้าพ่ออุปราช อำเภอบึงบูรพ์ จังหวัดศรีสะเกษ
ศาลเจ้าพ่ออุปราช เจ้าพ่ออุปราชอำเภอบึงบูรพ์ จังหวัดศรีสะเกษ
อำเภอบึงบูรพ์ตั้งอยู่บ้านเป๊าะ เดิมแดนดินถิ่นนี้เป็นที่อยู่อาศัยของพวกส่วย คำว่า "เป๊าะ” เป็นภาษาส่วยแปลว่าเห็ด เช่น เพื่อน ๆ ชาวส่วยเห็นกันจะถามว่า "จีเนีย” (ไปไหน) คนไปเก็บเห็ดจะตอบว่า จีจะตะเป๊าะเป๊าะ (คือไปเก็บเห็ดเผาะ) ส่วยเรียกเห็ดเผาะว่า "เป๊าะ” เมื่อลาวเข้ามาอยู่ในบ้านเห็ดเผาะ จึงได้ นามว่าคนบ้านเป๊าะ นี้คือเหตุผลในการตั้งชื่อหมู่บ้าน อีกกระแสนหนึ่งกล่าวว่าเกิดจากการเสี่ยงทายไข่ไก่ ถ้าไข่แตกที่ไหนก็จะตั้งหมู่บ้านและเมื่อมาถึงบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านแห่งนี้ไข่แตกดังเป๊าะ จึงตั้งชื่อบ้านว่า บ้านเป๊าะ ในสมัยธนบุรี มีชนกลุ่มหนึ่ง คงจะอพยพมาจากทางเวียงจันทร์หรือลุ่มน้ำโขง ด้วยเหตุผลอะไรไม่ปรากฏชัด อาจหนีภัยสงคราม หรือหลบภัยการเมือง หรือมาหาที่ทำกินใหม่ เพราะฟังสำเนียงเสียงภาษาที่ชาวบ้านเป๊าะพูดเหมือนกับพี่น้องชาวอุบล คือไม่พูด (กิ๊น ไป๊) เหมือนหมู่บ้านข้าวเคียง เมื่อมาเห็นทำเลอันอุดมสมบูรณ์และกว้างใหญ่ของป่าดงเห็ดเผาะก็เข้าถากถางสร้างบ้านแปลงเมืองอยู่กันมาด้วยความผาสุก และชาวบ้านเหล่านี้ก็นับถือศาสนาพุทธ จึงได้สร้างวัดเป็นคู่กับบ้านไว้ด้วย ประชาชนชาวบึงบูรพ์ เป็นชาวลาวทั้งหมด ดังนั้น จึงมีความเชื่อและนับถือเรื่องญาพ่อ หรือ เจ้าพ่ออุปราช สืบต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน ญาพ่อ หรือ เจ้าพ่อ หรือมเหศักดิ์ หมายถึง เทพารักษ์ผู้คุ้มครองถิ่นนั้น ๆ หรือ เจ้าผี ซึ่งเดิมเป็นเจ้าเมืองในถิ่นนั้น โบราณเรียกว่า เมฆเมือง ซึ่งได้แก่ผู้มาตั้งบ้านเมือง ตายไปแล้วไม่ยอมไปเกิดที่ไหน แต่ยังเป็นผีเฝ้าดูแลปกครองลูกหลานในบ้านในเมืองตามเดิมเหมือนสมัยที่ยังไม่ตาย และอาศัยอยู่กับหลักบ้าน หรือหลักเมืองติดแน่น จึงมีการสร้างศาลไว้คู่กับหลักเมือง หรือสร้างศาลคร่อมหลักเมืองเอาไว้ เพื่อให้เจ้าพ่อได้อาศัย
อัตลักษณ์ (ที่โดดเด่น)
ญาพ่ออุปราช เป็นเรื่องราวความเชื่อเกี่ยวกับผีบรรพบุรุษ ซึ่งเมื่อตายไปก็ยังคอยปกปักรักษาบ้านเมืองให้มีความสงบร่มเย็น โดยชาวลาวในจังหวัดศรีสะเกษ ที่อาศัยอยู่ตามลุ่มแม่น้ำมูลและลำน้ำสาขาจะมีความเชื่อในเรื่องญาพ่ออุปราชเป็นอย่างมาก ได้แก่ อ.ราษีไศล อ.ศิลาลาด และ อ.บึงบูรพ์ ซึ่งการเลี้ยงญาพ่ออุปราชจะเริ่มจัดให้มีขึ้นตามลำดับ เริ่มจัดในช่วงหลังวันออกพรรษาของทุกปี โดยจะเริ่มจัดพิธีเลี้ยงและส่วงเรือถวายญาพ่ออุปราชบริเวณหอญาพ่ออุปราชดงภูดิน อ.ราษีไศล เป็นที่แรกจากนั้นก็จะจัดพิธีเลี้ยงหออื่น ๆ ตามลำดับ สำหรับในอำเภอบึงบูรพ์จะจัดพิธีเลี้ยงญาพ่อในวันอังคาร เดือนห้าของทุกปี และจะจัดเลี้ยงตามลำดับ ดังนี้ ๑. หอท่าเขาใหญ่ วัดศรีบึงบูรพ์ (อุปราช) ๒. หน้าที่ว่าการอำเภอบึงบูรพ์ (อุปราช) ๓. โฮงดำ โฮงแดง บ้านหาด ๔. ปู่โถ ปู่โณ ที่หนองบึงบูรพ์ ๕. ย่าจันทร์ ที่ป่าสงวนดงใหญ่ ๖.ท้าวเชียง บ้านจอมพระ
ความสำคัญและคุณค่าทางสังคมและทางจิตใจที่มีในวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชน นั้นๆ
ผู้ที่นับถือญาพ่อมีความเชื่อว่าญาพ่อมีคุณอเนกตั้งแต่เกิดจนตาย ถ้าเรานับถือท่าน ท่านก็จะอยู่ปกปักรักษาเรา ภาษาลาวเรียกว่า นำหุ่ม นำกุ้ม เชื่อกันว่าคนที่นับถือบูชาญาพ่ออย่างมั่นคงชีวิตไม่ตกต่ำ จะไปรบทัพ จับศึก ขึ้นรถ ลงเรือ ไปเหนือ ล่องใต้ ก็นึกถึงญาพ่อ แล้วจะปลอดภัย การนับถือญาพ่อก็ไม่ถึงกับงมงายไร้เหตุผล เพราะไม่มีอะไรเสียหาย แต่ก่อให้เกิดความสามัคคีอย่างเหนียวแน่น ส่วนหนึ่งมาจากการนับถือญาพ่อนั่นเอง เช่น การช่วยรักษาโรคภัยบางอย่าง โดยเฉพาะโรคทางจิตเวชที่โรงพยาบาลทั่วไปรักษาไม่ได้ การแก้คุณไสย การให้กำลังใจแก่ผู้เดินทางหรือเสียงภัย การทำพิธีให้เกิดสิริมงคลแก่เรือส่วง การร่วมประเพณีบุญบั้งไฟให้ปลอดภัย เป็นต้น ทุกอย่างในโลกนี้เหมือนเหรียญที่มีสองหน้าเสมอ คนที่ไม่เชื่อ ไม่นับถือ แล้วอยู่เฉย ๆ โทษมีมี แต่ที่ไม่เชื่อ ไม่นับถือแล้วยังไปดูถูกเหยียดหยามมักจะมีอันเป็นไป อาจเจ็บป่วย หรือถึงแก่ชีวิตก็มี ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ โดยเฉพาะการตระบัดสัตย์ ไม่ทำตามคำบนบานศาลกล่าว ญาพ่อจึงเป็นเรื่องราวความเชื่อและมีพิธีกรรมที่สืบสานกันมาจนเป็นประเพณีระหว่างผีกับคน ที่ยังประโยชน์ให้เกิดความสงบสุขร่มเย็นเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจอย่างผสมผสานกลมกลืนกันมาช้านานแล้วของคนเผ่าลาว.
ศาลเจ้าพ่ออุปราช อำเภอบึงบูรพ์ จังหวัดศรีสะเกษ
ความคิดเห็น
โพสต์ความคิดเห็น